ป่าคำชะโนด หรือ เมืองชะโนด หรือ วังนาคินทร์คำชะโนด ตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลวังทอง, ตำบลบ้านม่วง และตำบลบ้านจันทร์ ใน อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี เป็นป่าที่มีลักษณะเหมือนเกาะขึ้นอยู่กลางทุ่งนา เต็มไปด้วยต้นชะโนด ซึ่งเป็นพืชจำพวกปาล์ม ความยาวประมาณ 200 เมตร[1] ป่าคำชะโนดเป็นสถานที่ ๆ ปรากฏในตำนานพื้นบ้าน เป็นสถานที่ ๆ เชื่อว่า เป็นที่สิงสถิตของพญานาคและ สิ่งลี้ลับต่าง ๆ บ่อยครั้งที่ชาวบ้านในละแวกนั้นจะพบเห็นชาวเมืองชะโนดไปเที่ยวงานบุญพระเวท รวมถึงหญิงสาวที่มายืมเครื่องมือทอผ้าอยู่เป็นประจำ และเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงที่อำเภอบ้านดุง แต่น้ำก็ไม่ท่วมบริเวณคำชะโนด เมื่อระดับน้ำลดลง คำชะโนดก็ยังคงอยู่เช่นเดิม
ตำนาน
ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า มีพญานาคอยู่ สองตนได้ปกครองเมืองหนองกระแส โดยครึ่งหนึ่งเป็นของ สุทโธนาค (พญาศรีสุทโธ) ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของ สุวรรณนาค ทั้งสองปกครองเมืองอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข แต่มีข้อตกลงกันอยู่ว่า ถ้าเมื่อฝ่ายใดออกไปล่าสัตว์หาอาหาร อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องไม่ไป เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการกระทบกระทั่งกัน และเมื่อฝ่ายที่ออกไปล่าสัตว์หาอาหารมาได้นั้น ให้นำมาแบ่งกันอย่างละครึ่งเมื่อถึงคราวสุวรรณนาคได้ออกไปล่าสัตว์หาอาหารได้เนื้อช้างมา จึงนำเนื้อช้างที่ได้แบ่งให้สุทโธนาค พร้อมทั้งนำขนของช้างไปยืนยันว่าเป็นเนื้อช้างจริง อีกครั้งที่สุวรรณนาคออกไปล่าสัตว์หาอาหารอีก ครั้งนี้ได้เม่นมาเป็นอาหาร จึงได้นำเนื้อเม่น และขนของเม่นไปมอบให้แก่สุทโธนาคเหมือนเช่นเคย แต่สุทโธนาคกลับแสดงความไม่พอใจ เพราะเมื่อดูจากขนของเม่นที่มีขนาดใหญ่กว่าขนของช้าง ปริมาณเนื้อที่ได้ก็ควรมีมากกว่าเนื้อของช้าง แต่ปริมาณเนื้อนั้นกลับมีน้อยกว่ามากนัก จึงคิดว่าสุวรรณนาคไม่มีความซื่อสัตย์ ฝ่ายสุวรรณนาคพยายามอธิบายอย่างไรก็ไม่เป็นผล จึงเกิดสงครามระหว่างสุทโธนาค และสุวรรณนาค
พระอินทร์ได้ทราบเรื่อง จึงหาวิธีการที่จะทำให้พญานาคทั้งสองนั้นหยุดทำสงครามกัน โดยให้พญานาคทั้งสองสร้างแม่น้ำขึ้นคนละสาย ถ้าใครสร้างได้ถึงทะเลก่อนจะให้ปลาบึกขึ้น อยู่ในแม่น้ำนั้น เมื่อได้ยินเช่นนั้น สุทโธนาคก็ได้สร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศตะวันออกของหนองกระแส และด้วยความที่สุทโธนาคมีนิสัยใจร้อน เมื่อพบเจอภูเขากั้นทางแม่น้ำก็จะทำการหลบหลีก โค้งไปโค้งมา จึงเกิดเป็น แม่น้ำโขง (โค้ง) ส่วนทางฝ่ายสุวรรณนาคนั้น ได้ทำการสร้างแม่น้ำขึ้นทางทิศใต้ของหนองกระแส สุวรรณนาคมีความละเอียด และใจเย็น แม่น้ำที่สร้างขึ้นจึงมีความตรงกว่าแม่น้ำทุกสาย ได้แก่ แม่น้ำน่าน
สุทโธนาคเป็นผู้ที่สร้างแม่น้ำได้เสร็จก่อน จึงมีปลาบึกขึ้นอยู่ในแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียว และเมื่อเป็นเช่นนั้น สุทโธนาคก็ได้ขอทางขึ้น-ลง ระหว่างเมืองบาดาล กับเมืองมนุษย์ไว้อีก 3 แห่ง หนึ่งในนั้นก็คือ คำชะโนด ซึ่งมีต้นชะโนดขึ้น เป็นสัญลักษณ์ ให้สุทโธนาค พร้อมบริวารสามารถกลายร่างเป็นมนุษย์ (พญาศรีสุทโธ) และตั้งบ้านเมืองปกครองอยู่ที่คำชะโนดได้เมื่อข้างขึ้น 15 วัน อีก 15 วันข้างแรม ให้กลายเป็นนาค อาศัยอยู่เมืองบาดาล (พญานาคราชศรีสุทโธ)[2]
เรื่องราวในสังคม
เรื่องราวของวังนาคินทร์คำชะโนด หรือ ป่าคำชะโนด กลายเป็นข่าวคราวโด่งดังขึ้นมาในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2543 เมื่อปรากฏว่ามีกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าสามารถบันทึกวิดีโอภาพของเปรตและรุกขเทวดาได้ที่ป่าแห่งนี้ ก่อนที่ความจะแตกว่าเป็นเรื่องหลอกลวง[3]แต่จากนั้น เรื่องราวความลี้ลับในป่าคำชะโนดก็กลายเป็นที่รับรู้และสนใจของคนในสังคม ทั่วไป จนหนึ่งในเรื่องเล่าเกี่ยวกับอาถรรพ์ของสถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2550 เรื่อง ผีจ้างหนัง นำแสดงโดย อชิตะ ปราโมช ณ อยุธยา และภัครมัย โปรตระนันท์[4]
ที่มา http://hilight.kapook.com/view/17125
ที่แห่งนี้คือป่าศักดิ์สิทธิ์ ป่าลี้ลับ ป่าอาถรรพ์ … และคือป่าที่มีตำนาน ที่ชาวไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชาวลาวให้ความนับถือ เพราะเชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของเมืองนาคินทร์ และวังพญานาค ต้นตำนานแม่น้ำโขง เป็นป่าที่มีความน่าสนใจในแง่พฤกษศาสตร์ ที่โลกต้องทึ่ง!!! กับต้นคำชะโนดที่มีอายุนับหลายร้อยปี และมีอยู่ที่เดียว ณ ป่าคำชะโนด
บนพื้นที่ราว 20 ไร่ ณ ต.วังทอง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี คือ ที่ตั้งของ ป่าคำชะโนด ที่ตั้งตามลักษณะภูมิประเทศ เนื่องจากบริเวณนั้นมีต้นชะโนด (อยู่ในตระกูลเดียวกับปาล์ม คล้ายๆ ต้นตาล ต้นหมาก หรือไม่ก็ต้นมะพร้าว แต่สูงกว่า) ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น มองไปทางไหนก็เห็นแต่ทิวชะโนดสูงเด่นเป็นสง่า ปี 2520 เป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านได้ทำการสำรวจจำนวนต้นชะโนดในป่าแห่งนี้ มีอยู่ราว 2,000 กว่าต้น จนมาถึงปี 2544 ชาวบ้านสำรวจอีกครั้งพบว่าต้นชะโนดลดลงเหลือเพียง 1,865 ต้น ถึงกระนั้นที่นี่ยังคงความเย็นชื้นและให้บรรยากาศวังเวงเหมือนเดิม แต่ ที่น่าแปลกใจคือ หากพ้นจากดงชะโนดแห่งนี้ไป ห่างกันแค่ไม่ถึง 300 เมตร ก็ไม่มีต้นชะโนดปรากฏให้เห็นแม้แต่ต้นเดียว นี่เองจึงทำให้ผืนดินราว 20 ไร่ ถูกตั้งฉายาให้เป็นป่าแห่งชะโนดขนานแท้
"เคยมีคนคิดเอาต้นชะโนดไปปลูกที่อื่นนะ แต่ไม่นานก็ต้องเอากลับมาคืนที่เดิม เพราะชีวิตการงานไม่ก้าวหน้า ชีวิตครอบครัวมีแต่ความเดือดร้อน ขนาดว่าแค่เอาเมล็ด หรือส่วนใดส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นใบแห้งๆ ออกจากป่า สุดท้ายต้องเอามาคืนกันหมด" ทองอินทร์ ปักเสติ ชาวบ้านโนนเมือง ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้ๆ กับป่าคำชะโนด กล่าว
อย่างไรก็ตามผืนป่าแห่งนี้กลายเป็นสถานที่เลื่องชื่อชั่วข้ามคืน เพราะเรื่องเล่า "ผีจ้างหนังที่คำชะโนด" (คนอีสานเรียก ผีบังบด หรือเมืองลับแล ไม่สามารถมองเห็นได้ทั่วไป นอกเสียจากว่าจะมีอะไรดลใจให้เห็น) …. โดยเมื่อปี พ.ศ.2532 ธงชัย แสงชัย เจ้าของบริษัทหนังเร่ดังกล่าว ได้เล่าว่า ตนเองถูกว่าจ้างจากใครคนหนึ่งให้ไปฉายหนังกลางแปลงที่งานวัด ที่หมู่บ้านวังทอง แถวป่าคำชะโนด ด้วยจำนวนเงิน 4,000 บาท แต่มีข้อแม้คือ ต้องฉายจบแค่ตี 4 ของวันใหม่ และให้ออกจากหมู่บ้านก่อนฟ้าสาง โดยห้ามหันหลังกลับมามอง...
หลังจากที่วางเงินมัดจำเสร็จ เจ้าของหนังก็จัดแจงเตรียมของอุปกรณ์สัมภาระ ฟิล์มหนังที่จะนำไปฉาย ไปกับลูกน้องอีก 4 รวมเป็น 5 คน โดยขึ้นรถบรรทุก 6 ล้อมีหลังคา ออกจากตัวจังหวัดบ่ายแก่ ๆ ขับรถเข้าไปแถวป่าคำชะโนดก็เริ่มมืด ยิ่งขับไปทางเส้นทางตามที่ผู้ว่าจ้างบอกก็ไม่เห็นว่าจะเจอหมู่บ้านหรือคนที่ จะมารับ จึงนึกว่าหลงกัน ระหว่างจอดรถว่าจะย้อนกลับไปดีหรือไม่ ก็มีผู้หญิง 2 คนใส่ชุดดำมาร้องเรียกว่าจะนำไปที่วัด คนขับที่เป็นเจ้าของหนังก็รับขึ้นรถ แต่แกก็สงสัยว่า 2 คนนี้โผล่มาจากไหนในที่มืดๆ อย่างนี้ พาหนะอะไรก็ไม่มี
เมื่อขับเข้าไปในหมู่บ้านก็ยิ่งให้ชวนสงสัยใหญ่ว่า ทำไมไม่มีเสียงลำโพงออกมาจากงานวัด ไม่มีเสียง หมอลำ หรือการละเล่นอะไรเลย พอไปถึงหมู่บ้านก็มีคนมารับ แต่ แปลกว่าทุกคนจะใส่เสื้อสีขาวกับดำ ถ้าเป็นผู้ชายใส่ชุดขาว ผู้หญิงใส่ชุดดำแยกให้เห็นชัดเจนแม้แต่เด็ก แต่ที่แปลกทุกคนจะทาหน้าขาวหมดเหมือนใช้ครีมพอกหน้า
เมื่อถึงที่แล้วทุกคนก็เริ่มตั้งจอภาพยนตร์ เดินสายไฟ และเปิดเครื่องปั่นไฟ ระหว่างที่กำลังกุลีกุจอติดตั้งก็เริ่มเห็นผู้คนทยอยมานั่งดูหนัง แต่จะแยกชายหญิงชัดเจน ไม่นั่งรวมกัน และปกติของงานวัดจะต้องมีแม่ค้าแม่ขายมาขายน้ำ ขายถั่ว ขายปลาหมึกย่าง แต่ที่นี่กลับไม่มีแม่ค้าสักคน พอติดตั้งเสร็จก็เริ่มฉายหนัง หนังที่เอาไปฉายมี 4 เรื่อง เรื่องแรกเป็นหนังสงคราม เรื่องที่ 2 เป็นหนังตลกแอ็คชั่น เรื่องที่ 3 กับ 4 เป็นหนังผี ระหว่างฉายคนพากย์ก็พยายามพากย์ยิงมุกตลกๆ แต่ไม่มีใครหัวเราะหรือแสดงอารมณ์อย่างใดเลย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไปฉายที่ไหน คนก็จะหัวเราะตลอด
จนเริ่มฉายเรื่องที่ 3 ที่เป็นหนังผี สังเกตท่าทางคนที่มาดูเริ่มตั้งใจดู ทั้งที่บรรยากาศตอนนั้นก็เที่ยงคืนดูน่ากลัวมากๆ ระหว่างนั้นทางเจ้าภาพก็จัดข้าวต้มถ้วยเล็กมาให้ทีมงานฉายหนังกินกัน ทางทีมงานเห็นแล้วก็ละเหี่ยใจ มีแต่ข้าวต้มซีดๆ กะเนื้อชิ้นเล็กๆ แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเสียน้ำใจ ทางทีมงานก็เลยกินกัน ปรากฎว่าเป็นข้าวต้มที่อร่อยที่สุดที่เคยกินกันมา หลังจากฉายหนังจบถึงตี 2 ผู้คนก็แยกย้ายกันกลับ แป๊บเดียวก็สลายไปหมด ไม่มีใครเหลืออยู่เลย ทางทีมงานก็เก็บอุปกรณ์ขึ้นรถ โดยมีผู้หญิงสองคนนั่งรถออกมาส่ง ก่อนจะร่ำลาก็จ่ายค่าจ้างที่เหลือซึ่งเป็นเงินเหรียญทั้งหมด พอออกมาส่งถึงปากซอยผู้หญิงสองคนนั้นลงจากรถ พอรถออกตัวคนขับที่เป็นเจ้าของหนังกลางแปลงหันกลับมาดูก็ไม่เห็นผู้หญิง 2 คนนั้นแล้ว
หลังจากกลับมาถึงบริษัท ธงชัย ก็เกิดความสงสัย จึงเช็คประวัติกับผู้ว่าจ้างที่ถ่ายเอกสารให้ตอนวางมัดจำ ก็พบตัวว่ามีชื่อนี้จริง แต่เจ้าตัวบอกว่าไม่เคยไปว่าจ้างใครไปฉายหนังตามวันและเวลาที่บอก เมื่อสงสัยจัดก็เลยสอบถามไปยังเจ้าอาวาสวัดที่เอาหนังไปฉาย ทางเจ้าอาวาสก็บอกว่าในวันนั้นที่วัดไม่ได้มีการจัดงานแต่อย่างใด แต่เจ้าอาวาสเล่าว่า ในคืนวันที่เจ้าของหนังมาบอกว่ามีการฉายหนัง ที่ป่าคำชะโนดจะมีเสียงซู่ๆ เหมือนกับมีพายุพัดเข้ามา ทั้งๆ ที่คืนนั้นไม่มีลมใหญ่พัดมาจากไหนเลย... (?!?)
นอกจากจะมีเรื่องเล่าผีจ้างหนังที่ป่าคำชะโนดแล้ว ผืนป่าแห่งนี้ยังมีเรื่องน่าประหลาดอีกเรื่องคือ เวลา น้ำแล้งก็จะเห็นว่าดินเชื่อมต่อกันไม่มีอะไร แต่เวลาน้ำท่วม ที่ดินรอบๆ จะท่วมหมด แต่ปรากฏว่าป่านี้น้ำไม่ท่วม น้ำขึ้นสูงอย่างไรก็ไม่ท่วม ชาวบ้านจึงเชื่อว่า เกาะนี้ลอยน้ำได้ และเชื่อว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะเจ้าที่เป็นคนทำไม่ให้ผืนป่าแห่งนี้จมน้ำ. . .
ขณะที่ ทองอินทร์ ปักเสติ ชาวบ้านโนนเมือง ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้ๆ กับป่าคำชะโนด ได้ย้อนถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในป่าคำชะโนดอีกหนึ่งเรื่องเล่าของป่า แห่งนี้ ซึ่งคนภายนอกฟังดูอาจ คิดว่าเป็นเรื่องอุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อหลอกให้คนกลัวกันเล่นๆ สำหรับชาวบ้านที่อยู่มานานนมกลับเชื่อสนิทใจ ไม่ใช่นิทานปรัมปรา หรือนิยายประโลมโลก แต่นั่นคือแรงศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อป่าอันลี้ลับและเต็มไปด้วยเรื่องเล่า มากมาย …
เดิมทีคนท้องถิ่นจะเรียกที่นี่ว่า "วังนาคินทร์คำชะโนด" ที่มาก็คือมีบ่อน้ำอยู่กลางดงชะโนด เป็นบ่อน้ำขนาดเล็กๆ แต่กลับมีน้ำซึมออกมาตามธรรมชาติตลอดเวลา ทำให้ชาวบ้านเชื่อกันว่าบ่อน้ำประทานมาให้โดยพญานาคที่อาศัยอยู่ในบริเวณผืน ป่า สำหรับบ่อน้ำในป่าคำชะโนด ว่ากันว่าเป็นบ่อน้ำที่ความศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก ชาวบ้านเชื่อกันอย่างนั้น มีหลายคนเคยลองอธิษฐานตรงหน้าบ่อน้ำก็ได้ตามประสงค์ บางคนเจ็บป่วยไปดื่มหรืออาบโรคร้ายก็หายเป็นปลิดทิ้ง สร้างความอัศจรรย์ใจยิ่งนัก แต่นั่นไม่ใช่ทุกคน อยู่ที่ความเชื่อมีมากน้อยแค่ไหน หลายคนไม่เชื่อแถมยังลบหลู่ ตักน้ำจากบ่อแล้วนำมาล้างเท้าแทนที่จะหายป่วยไข้กลับทุกข์ทรมานซ้ำหนักกว่า เดิม
เช่นเดียวกับใครที่อยากจะเข้าไปสัมผัสป่าลี้ลับคำชะโนดก็ต้องสำรวมและปฏิบัติตามข้อห้ามอื่นๆ เป็นต้นว่า ห้ามใส่รองเท้าทั่วทั้งบริเวณป่า หมวก แว่นตา ร่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ห้ามเด็ดขาด เพราะสิ่งเหล่านี้คือการดูถูกดูหมิ่นต่อผู้ปกปักรักษาผืนดิน "แต่ก่อนห้ามใส่เสื้อสีแดงด้วย ไม่ได้เลยนะ ใครใส่เข้ามานี่เป็นเรื่อง อยู่ไม่ได้นานหรอก ต้องรีบออกไป ไม่รู้เพราะอะไร เหมือนท่านไม่ชอบ แต่พอหลวงปู่ (หลวงตาคำ สิริสุทโธ เจ้าอาวาสวัดศรีสุทโธ วัดละแวกป่าคำชะโนด) ได้ทำพิธีขอยกเว้นตอนหลังก็ใส่ได้" ทองหล่อ ตลิ่งชัน กำนันตำบลวังทอง กล่าว
ความเชื่อเรื่องพญานาคของคนที่นี่นั้นอาจไม่แตกต่างจากชาวหนองคายที่เชื่อ ว่าพญานาคมีจริง บั้งไฟพญานาคเกิดจากอิทธิฤทธิ์ของเจ้าแห่งเมืองบาดาล ไม่ใช่ฝีมือของมนุษย์ธรรมดาเหมือนเมื่อครั้งถูกนำเสนอผ่านหนัง รวมถึงสื่อทีวีบางช่องเมื่อหลายปีก่อนโน้น ชาวบ้านละแวกป่าคำชะโนดก็คล้ายกัน พวก เขาสร้างทางเดินที่เชื่อมจากโลกภายนอกกับผืนป่าอันศักดิ์สิทธิ์เข้าไว้ด้วย รูปปั้นพญานาค 2 ตัว 7 เศียร นอนเลื้อยยาวไปจนสุดทางเดินราว 300 เมตร เพื่อสะท้อนถึงพลังอำนาจและบารมีของพญานาคราช
กระทั่งในวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านก็มีความเชื่อว่าเป็นวันที่พญานาคจะขึ้นมาหายใจ ดวงไฟสีแดงที่ผุดกลางบ่อน้ำแล้วลอยขึ้นท้องฟ้า (คล้ายๆ กับบั้งไฟพญานาคผุดกลางลำน้ำโขงที่ จ.หนองคาย) นั่นละคือ ลมหายใจพญานาค โดยชาวบ้านเชื่อว่าใครเห็นจะเป็นบุญของชีวิตเลยทีเดียว
ป่าคำชะโนด... ยังมีเรื่องเล่าอีกนับไม่ถ้วน ทั้งที่สร้างความรู้สึกชวนขนหัวลุก และตื่นเต้นเสียวสันหลัง เชื่อหรือไม่เชื่อนั้นแล้วแต่วิจารณญาณส่วนบุคคล หรือคุณจะลองไปพิสูจน์...?
แผนที่
ดู